วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

มหกรรม ๙ หัวใจกระบวนกรอยู่ที่ไหน?

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เช้านี้ลมแรง อากาศเย็นสบาย สงสัยว่าฝนจะเทลงมาเลยหรือเปล่า หรือว่าจะมีเวลาให้เราไปเดินสนามบิน เมื่อคืนพลังงานของทีมกระบวนกรและผู้เข้าร่วมยังต่อกันไม่ติด หยอดตัวกวนลงไปนิดหน่อย พูดถึงผู้พิทักษ์ในวัฒนธรรม บางครั้งวัฒนธรรมก็กดขี่ให้เราตกเป็นทาส เป็นการสืบทอดสายธารแห่งการจำนน หรือเปล่า วัฒนธรรมของเราส่งทอดการเป็นหนู หรือธาตุน้ำลงมา และบางทีเราก็เผชิญหน้าน้อยเกินไป เราอาจมีมุขตลกเป็นตัวหลีกลี้หนีความจริงในบางครั้งหรือเปล่า หรือบางทีเราก็ใช้มันมากไป บ่อยไป

อยากให้ผู้คนได้ใคร่ครวญ เช้านี้ที่นึกออก ก็นึกถึงรายการพื้น ๆ ท่ีใช้บ่อย ๆ ในรายการสุดท้าย นั่นก็คือการได้ใคร่ครวญโดยผ่านธาราลิขิต การเขียนบันทึกประดุจสายน้ำ ที่ไหลต่อเนื่องไม่ขาดสาย แต่ก็มีความลังเลอยู่นิดหนึ่ง ว่าน่าจะมีอะไรอีกสักนิดหนึ่ง ที่แทรกเข้ามาก่อน ยังนึกไม่ออก

ยิ่งทำกระบวนการ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้คนมากเท่าไร ย่ิงซอยลงเนียน ๆ มากขึ้น เคลื่อนไปอย่างเนิบช้า ให้ผู้คนได้ลงมาสัมผัสประสบการณ์ตรง ได้รู้ว่า ไม่รู้ ว่าไม่สามารถ บางทีตัวทฤษฎีก็เลือนหายไปบ้าง แต่ที่ได้มาคือทางเดิน ที่ปรากฏชัดในประสบการณ์

พวกเขาไม่รู้หรือว่า การได้ปฏิสัมพันธ์กับเหล่าผู้ช่วยกระบวนกรด้วยประสบการณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งบทแห่งการเรียนรู้ แต่บรรดาผู้ช่วยเหล่าน้ี คือผู้คนที่ได้หยิบฉวยเอา “การเดินทาง” กลับมาเป็นของตน บางคนพูดถึงจัมโบ้ ที่ใส ๆ มีความดิบเถื่อนและสด หญิงบางคนว่า ชายคนนี้ คือคนที่มีเสน่ห์โดยแท้ จัมโบ้เพียงผ่านทางมา ชมชอบกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ และที่จริง ก็ใหม่สดกับกระบวนการไม่แพ้ผู้เข้าร่วมทั้งหลาย เขาได้รับทุนให้มาเรียน จึงไม่นิ่งดูดาย ขวนขวายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน ทั้งที่บางทีก็อาจจะยังไม่รู้ว่าช่วยอะไร

พื้นที่ของเราเป็นเหมือนวัด กลับไปหาภูมิปัญญาแบบเดิม ๆ พื้นท่ีกลางที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาได้ ตามความสมัครใจ อย่างจิ๋ม ก็ออกมาจากโรงพยาบาลเอง ด้วยวินิจฉัยของตัวเอง เข้ามารับจิตวิญญาณบำบัด ด้วยแสงแห่งจิตจะช่วยให้พลังชีวิตของเธอฟ้ืนคืนมา จิ๋มก็เป็นตัวกวนของผู้เข้าร่วม ด้วยการนอนเอกเขนกอยู่ในวง อย่างหน้าตาเฉย มีอะไรเกิดขึ้นอย่างปราศจากคำอธิบายมากเหลือเกิน เพียงคิดว่า นี่เป็นพื้นที่กลางแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับวัด บางทีอาจจะช่วยคลายความสงสัยไปได้บ้าง ทุกคนได้ทำงาน ปลุกปล้ำกับภาพลักษณ์และตัวแทนเต็มที่ ยังมีการ์ฟิลด์ที่เดินไปเดินมา เล่นโน่นเล่นนี่ส่งเสียงเป็นระยะอีก ลงทุนลงแรงมาเข้าร่วมระดับนี้แล้ว จะคุ้มหรือเปล่า คำถามเช่นนี้ดังก้องอยู่ในมโนสำนึกของผู้เข้าร่วมแน่นอน

แต่แล้วผู้คนก็สบายใจขึ้นเล็กน้อย กับการมีอาจารย์ศรชัย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเข้ามาร่วมอยู่เป็นผู้ช่วยกระบวนกรด้วย สงสัยท่าทีจากผู้ช่วยกระบวนกรมาดคุณนายของคุณโอ้ จากเครือข่ายเมืองแพร่ อยู่บ้าง แต่ก็พึงพอใจกับรอยยิ้มอย่างกว้างขวางของเธอ ความเฉียบคมของการนำเสนอแบบอินเตอร์ของบี ก็ลงแรงต้านลงอีกนิด ท่าทีที่พยายามดูมั่นคงของดิน ที่ผู้เข้าร่วมอ่านว่า “ยังเด็ก” อาจจะทำให้ผู้เข้าร่วมคิดว่า “เขาเล่นอะไรกันนี่!” ก็ไม่หมดหรอกครับ รายการที่ทำให้เกิิดความปั่นป่วนสับสนอลหม่าน เมื่อกระแสสองกระแสปะทะกัน แต่คำถามที่สำคัญยิ่งก็จะยิ่งดังฟังชัดขึ้น “เราหยิบการเดินทางมาเป็นของเราแล้วหรือยัง” หรือว่าเรายังไปฝากการเดินทางไว้กับที่ฝากกระเป๋า ทั้ง ๆ ท่ีเราก็ไม่ได้ไปไหน หากมาเฝ้าที่เฝ้ากระเป๋าอีกทีหนึ่ง นี่มันอะไรกันนี่?

แต่ทั้งหมดของผู้ช่วยกระบวนกร ก็คือภาคบ่ายแห่งปัญญาปฏิบัติเท่านั้น อาจารย์วิศิษฐ์ ที่จริง ก็ดูแลสองรายการ ในวันหนึ่ง คือเช้าและค่ำ คุณเมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อคืน จึงไม่มีการพูดถึงอาจารย์วิศิษฐ์เลย ไม่ว่าดีเหรือเลวก็ตาม แต่คนท้าย ๆ ของผู้เข้าร่วม ก็คลี่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาออกมาว่า สองสามวันแรกเป็นอย่างไร เข้าวันที่สี่แล้ว การคลี่บาน การออกดอกออกผลค่อยปรากฏขึ้น หรือว่า คำ่คืนเมื่อวาน พวกเขายังอื้ออึง เอ! ทำไมเจ็ดวันก็ยังดูน้อยเกินไป สำหรับการเรียนรู้ที่จะเป็นกระบวนกร แต่แล้วก็มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งพูดว่า “มันไม่ใช่การจดจำตัวกิจกรรมหรอก ที่จะนำพาเราไปเป็นกระบวนกรได้ แต่การทำงานกับข้างในของเราต่างหาก ที่เป็นตัวตัดสิน เหมือนกับว่า หากเราผ่านอะไรบางอย่างไป การเป็นกระบวนกรของเรา ก็จะโผล่ปรากฏ งานอะไรเข้ามา เราก็จะสามารถทำได้” หรือว่า นี่คือเรื่องราวของทั้งหมดของการเป็นกระบวนกร หรือว่า ความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาจมีค่าขึ้นมาได้ หากมันได้ทำให้เราตกผลึกภายในได้ เหมือนเราเข้าไปในที่ทางแห่งพลังที่เข้มข้น เผื่อว่า จะมีการเคลื่อนย้ายอนุภาค และความมหัศจรรย์แห่งชีวิตพลันปรากฏ อย่างนั้นหรือเปล่า?

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ความขลังและมนตราของคำว่าพื้นที่

ความขลังและมนตราของคำว่าพื้นที่ 



หากจะมีใครถามความลับของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา หรือการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ อันเป็นแกนกลางของการเรียนรู้เพื่อวิวัฒนาการทางจิตนั้น ความลับของมันก็อยู่ที่คำว่าพื้นที่ และอันที่จริง มันก็อาจจะเริ่มต้นด้วยพื้นที่ ณ กลางใจเรา 
แต่เราก็มักจะไม่รู้ว่าเราไม่รู้ และเรามักจะคิดว่า เรารู้ เราจะพลาดตรงนี้ เราคิดว่าเรารู้ ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ คำว่า ไม่รู้นี้อาจจะหมายถึงว่า ไม่สามารถ ไม่อาจทำให้เป็นส่วนหนึ่งของเราได้ ไม่ได้เป็นเนื้อเป็นตัวเรา อันนี้หมายถึงทักษะ โดยเฉพาะทักษะในการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ 
ณ ที่นี้ เราจะชักชวนผู้อ่านให้เข้าถึงพื้นที่ในรูปแบบ ในวิถี ที่ไม่คุ้นเคย เราลองมาทำความเข้าใจกับคำว่า “พื้นที่” โดยไม่ผ่านคำนิยาม คำจำกัดความ ก็ทำไมเราจะไปจำกัดความคำว่า “พื้นที่” ด้วยเล่า? 
หากเราจะลองเริ่มว่า เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้เร่ืองราวของพื้นที่ และเราลองเริ่มต้นที่ตรงนั้นดู 
พื้นที่อาจจะหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา สัมผัสได้ จับต้องได้ด้วยใจของเรา อาจจะหมายถึงอะไรที่เป็นอุปมาอุปไมยของก้อนเค้ก ที่เมื่อแบ่งปันก็หมดไปได้ ในไดอะล็อค หรือการสนทนา หรือในการประชุมหลากหลายรูปแบบ พื้นที่อาจหมายถึงเวลาที่แบ่งปันให้คนพูด แต่เมื่อมองอย่างเป็นคุณภาพมากขึ้น เป็นนามธรรมมากขึ้น เวลาอาจจะ แม้ในกรณีน้ี มันก็ไม่จำต้องหารกันอย่างตรงไปตรงมา แต่มันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้คนมากกว่า พวกเขารู้สึกหรือเปล่าว่า ได้รับการรับฟัง พวกเขามีพื้นที่อยู่ในใจของเราหรือไม่ ตรงนั้นต่างหากสำคัญที่สุด 
ความรู้สึกแบบนี้วัดกันได้ด้วยสัมผัสตรง พื้นที่แบบนี้ ในความหมายนี้ ก็ถูกกิน ถูกใช้ให้หมดไปได้ เราเรียกว่า การกินพื้นที่ คนในองค์กรสมัยใหม่ คนมีอำนาจ ก็คือ คนมีสิทธิมีอำนาจที่จะกินพื้นที่ของผู้อื่น การกินพื้นที่เป็นอากัปกิริยาที่เป็นอย่างไม่รู้ตัว เราไม่รู้ว่า เราไม่รู้ มันเป็นวงจรสมองที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างถาวร เป็นไฮเวย์ที่สร้างขึ้นมาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ใช่จะรื้อสร้างใหม่ได้ง่าย ๆ แต่ก็ยัง “รื้อสร้าง” พอได้อยู่ แต่จะต้องรู้เนื้อรู้ตัวก่อน จะต้องรู้ก่อนว่า ไม่รู้ ไม่สามารถที่จะไม่กินพื้นที่เสียก่อน การฝึกฝนเพื่อรื้อสร้างใหม่ เพื่อการไม่กินพื้นที่ จึงจะก่อเกิดขึ้นมาได้ 
พูดเรื่องการกินพื้นที่แบบนี้ ก็ดูเหมือนกว่า พื้นที่จะอยู่ภายนอก อยู่ระหว่างคนสองคน หรือสามคน สี่คน หรือมากกว่านั้นก็ได้ แต่ว่าพื้นที่จะดำรงอยู่ระหว่างตัวคน และสามารถนำมาแบ่งปันใช้สอยได้ มันไม่ได้วัดเป็นตารางเมตร แต่วัดด้วยใจ ด้วยความรู้สึกได้ คำถามจึงอาจเกิดขึ้นมาได้ว่า คำว่า “พื้นที่” ดำรงอยู่ภายในได้ไหม? 
ณัฐฬส วังวิญญู (อันนี้ น่าขำ มีเพื่อนผมคนหนึ่งมาถามว่า ผมเปลี่ยนชื่อแล้วหรือ? จากวิศิษฐ์เป็นณัฐฬส ขอเรียนว่า ณัฐฬสคือหลานชายคนโตครับ) วิจักขณ์ พานิช และฌาณเดช พ่วงจีน ไปสาธิตกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญหรือจิตตปัญญาศึกษาให้คณบดี และรองคณบดีจากทั่วประเทศ โดยคณะครุศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดงาน สภาการศึกษาแห่งชาติสนับสนุนทุนรอน นับเป็นครั้งแรก ๆ ที่วิจักขณ์ยอมปนเปื้อนทำงานนอกไปจากวิถีที่เขาเรียนรู้มา คือปกติเขาจะทำเดี่ยว และไม่ชอบการปนเปื้อน กิจกรรมครั้งนี้ จึงเป็นอะไรที่พิเศษมาก น่าเรียนรู้มาก โดยเฉพาะมันเป็นที่มาของคำ่ว่า พื้นที่ภายใน ที่ผมพูดถึงอยู่นี้ 
ณัฐฬสให้วิจักขณ์สร้าง space ภายในขึ้นมาก่อน และต่อมาเขาก็จะนำพาผู้คนเข้ามาร่วมกันใน space ภายนอก 
คือวิจักขณ์ใช้คำว่า space กับประสบการณ์ตรง ที่เขาเรียนรู้มาจากเรจจี้ เรย์อาจารย์วัชรยานของเขา ซึ่งเป็นศิษย์สายตรงของเชอเจียม ตรุงปะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งทั้งณัฐฬสและวิจักขณ์ก็ไปเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขอให้สังเกตว่า ศิษย์อาจารย์ชา สายอาจารย์มั่น แม้เป็นฝรั่งก็จะพูดภาษาอิสานเป็นภาษาหลัก โดยเฉพาะเมื่อต้องการใช้ในการสอนธรรมอย่างลึกซึ้ง ก็ไม่แปลกที่วิจักขณ์จะใช้ว่า space อย่างไม่ยอมแปลไทย แล้วผู้อ่านอย่าไปคิดว่า คำว่า พื้นที่ของผม เป็นคำแปล space ของวิจักขณ์เชีียวครับ เดี๋ยววิจักขณ์เขาจะมาเล่นงานผม ให้ผมอยู่ของผมอย่างผาสุกและปลอดภัยจะดีกว่า  
จะเข้าใจคำว่า space ของวิจักขณ์ได้ดีที่สุด ก็ต้องไปปฏิบัติและสัมผัสการอบรมกรรมฐานแบบของเขา ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ บางทีหากเรายอมรับว่า เราไม่รู้ว่า เราไม่รู้ เราก็จะเริ่มรู้ว่าเราไม่รู้ และจะมีหนทางจะไปล่วงรู้ขึ้นมาได้ 
แต่ตอนนี้ ผมจะมาพูดเรื่องของผมต่อ ตรงนี้เองที่ผมเรียกว่า “พื้นที่ภายใน” พื้นท่ีภายในนี้ ในอีกภาษาหนึ่ง ผมจะใช้คำว่า “ความว่าง” ท่านพุทธทาสพูดถึงคำ ๆ นี้ไว้มาก และพูดถึงเรื่องภาษาไว้มากด้วย ซึ่งจำเป็นต้องรู้และต้องเข้าใจ มันจึงจะเป็นทางนำไปสู่จิตตปัญญาศึกษา หรือการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญนี้ได้ คือต้องมีบันไดนำสู่ บันไดนี้ ท่านพุทธทาสพูดถึงไว้ด้วยถ้อยคำกระทัดรัดสองคำว่า ภาษาคน ภาษาธรรม 
ในภาษาคน ผมอาจจะยกตัวอย่างอย่างนี้นะครับ ถ้ามีห้อง ๆ หนึ่ง หากเราเอาเครื่องเรือนวางจนเต็มห้องไปหมด เราก็จะไม่มีพื้นที่ใช้งาน ห้องก็ไม่เป็นห้อง เพราะว่า เราไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ อันนี้เป็นพื้นที่สามมิติ ที่เป็นรูปธรรมและวัดได้ และความว่างก็คือพื้นที่ พื้นที่ที่เราจะเข้าไปทำอะไรต่ออะไรได้ เข้าไปอยู่อาศัยได้ ดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ 
แต่ก่อนจะไปถึงภาษาธรรมเลยทีเดียว เราอาจจะมาพูดภาษาธรรมด้วยภาษาคนก่อน ก็น่าจะดี คือความว่างหรือพื้นที่ (ตอนนี้ ผมจะใช้คำว่า พื้นที่กับความว่าง อย่างแทนที่กันได้แล้วนะครับ ดูให้ดี!) กับอัตตา มันเดินสวนทางกันอย่างไร มันแตกต่างกันอย่างไร เอาง่าย ๆ ในไตรลักษณะ คือ ลักษณะสามของธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง อะไรก็ตาม ที่เป็นอยู่ ย่อมหนึ่ง อนิจจตา แปรเปลี่ยน สอง ทุกขา คงทนตั้งอยู่ไม่ได้ มันย่อมถูกบีบคั้น ให้ไม่สามารถตั้งอยู่ดำรงอยู่อย่างนั้นได้ สาม ก็คืออนัตตา ไม่เป็นไปตามอำนาจที่เราอยากให้เป็นไป คือ มันไม่ทึบตัน มันโปร่งพรุน มันไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง อันนี้ สี่คำหลัง เป็นถ้อยที่นายแพทย์ประสาน ต่างใจชอบใช้ และใช้อยู่บ่อย ๆ บรรยายถึง ความว่างหรือพื้นที่ ที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี่เอง 
ที่จริงในหนังสือ “สู่ชีวิตอันอุดม” ท่านนัท ฮันห์ก็พูดเรื่องนี้ไว้ในสองระดับ คือระดับโลกสมมติ และระดับโลกุตระ ในระดับโลกสมมติ เราอาจจะไปเห็นเชือกเป็นงู แต่ที่จริงเป็นเชือก ในห้องซ่ึงไม่มีแสงสว่างมากนัก เราเห็นเชือกเป็นงูได้ พอตั้งสติได้ เราก็เห็นเชือกเป็นเชือก อันนี้ยังอยู่ในระดับสมมติ ลึกไปกว่านั้น เราอาจฝึกฝนให้เห็นเชือกไม่เป็นเชือกได้ ดังนิทานเซนที่เมื่อเราฝึกปฏิบัติธรรมไประดับหนึ่ง เราเริ่มเห็นภูเขาไม่เป็นภูเขา และแม่น้ำไม่เป็นแม่นำ้ แต่ฝึกไปอีกลึกไปอีก เราก็กลับมาเห็นภูเขาเป็นภูเขาและแม่น้ำเป็นแม่น้ำ นั้นแล 
คือเมื่อเราไปติดตรึงอยู่ในภาพลักษณ์ตัวแทน อย่างเห็นมันว่าจริงยิ่งกว่าจริง ไม่ยอมเห็นว่ามันเป็นเพียงสมมติ เราก็จะทึบตันและไม่มีความว่าง ไม่มีพื้นที่ สมเด็จ องค์ทะไลลามะเคยสรุปไว้ง่าย ๆ ว่า ความว่าง คือความเป็นไปได้ 
ผมเองก็ลองเอาเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในกระบวนการเรียนรู้หลักสูตร “การสนทนากับเสียงภายใน” หรือ “อิสรภาพในความสัมพันธ์” โดยหาพื้นที่หรือความว่าง ให้กับอะไรที่ดูเหมือนจะทึบตัน ด้วยการตั้งชื่อใหม่ ให้กับสิ่งนั้น สิ่งนั้นในท่ีนี้ก็คือ “ตัวตนภายใน” ที่ครอบครองพื้นที่ภายในของเรามากเหลือเกิน จนเราไม่เป็นอิสระ ก็ด้วยวิธีการง่าย ๆ อาศัยภาษาโลกเข้าไปทำงานกับประสบการณ์ทางธรรม เราก็หาทางออกกันง่าย ๆ ของการหลุดพ้นจากพันธะ หรือพันธนาการ อันเกิดจาก ตัวตนใหญ่ ๆ เสียงภายในใหญ่ ๆ ที่ครอบครองเราอยู่ ดังนี้ 


“การสนทนาเมื่อวาน มีมิรา ตถตา เม และเรา เป็นการสนทนาเพื่อยกร่างการเขียนหนังสือ สมองสู่จิตวิวัฒน์ โดยมีเรากับบีหรือมิราเป็นแกน และอาจจะมีผู้อื่นเข้าร่วมบ้างเป็นบางครั้ง เรื่องหนึ่งที่เราพูดคุยกันก็คือเรื่องของ “ความวิปลาส” หรือ Neurosis หรือการผิดเพี้ยนของการรับรู้  
“เราพูดถึงการรับรู้ที่ถูกแยกออกเป็นสามอย่างใน “สู่ชีวิตอันอุดม” คือ ตัวแทน ภาพลักษณ์และ ตถตา หรือ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” หรือ การรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น เราพูดถึงกิจกรรม Rename หรือการตั้งชื่อให้กับผู้พิทักษ์หรือ ตัวตนปฐมภูมิเสียใหม่ ในกิจกรรมอิสระในความสัมพันธ์ กิจกรรมหนึ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นมา ก็คือการตั้งช่ือใหม่ให้แก่ตัวตนปฐมภูมินี้ มันกลายมาเป็นกิจกรรมที่ทรงพลังมาก ๆ  ของเวิร์คชอบคราวนี้ กล่าวคือ เมื่อตั้งชื่อใหม่ ตัวตนนั้น ๆ ก็กลายร่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากพลังลบ ๆ ที่อาจจะมีของตัวตนเหล่านี้ บัดนี้ มันกลายร่างเป็นตัวตนกลาง ๆ ไม่ลบไม่บวก หากกลายมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือท่ีทรงพลัง ให้กับการเรียนรู้ของจิต ก่อนหน้านั้น เคยมีคนถามว่า ในวอยซ์ไดอะล็อคนี่ มีการกลายร่างได้ไหม หรือเราจะสามารถแปรธาตุของตัวตนต่าง ๆ เหล่านี้ได้ไหม? ตอนนั้นยังไม่มีคำตอบ ยังควานหาในความทรงจำไม่เจอว่าเคยอ่านที่ไหนหรือเปล่า แต่แล้วเมื่อมาทำกิจกรรมการตั้งชื่อใหม่ เราก็ค้นพบการกลายร่างของตัวตนเหล่านี้  
“ในการตั้งชื่อใหม่ คุณเมตั้งชื่อให้กับคุณวิจารณ์เสียใหม่ คือให้ชื่อเป็น “คุณวิเคราะห์” แล้วพลังงานของคุณวิจารณ์ที่ถูกเปลี่ยนชื่อ ก็แปรเปลี่ยนไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์ หลาย ๆ คนนอกเหนือจากคุณเม ก็รู้สึกเช่นนี้ เพียงเปลี่ยนชื่อ พลังของตัวตนนั้น ๆ ก็แปรเปล่ียนไป มันไม่มีอำนาจครอบงำเราต่อไปอีกแล้ว หรือเปล่า? น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก แล้วนี่คือความว่างหรือเปล่า? นี่คือมนตราแห่งพื้นที่หรือเปล่า?”  

พื้นที่อาจจะหมายถึงเวทีว่างเปล่า ที่สามารถปล่อยตัวละครออกมาเล่นได้ ในวอยซ์ไดอะล็อค ภายในตัวเรามีเสียงหรือตัวตนต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา ตัวโต หรือ ตัวตนปฐมภูมิเข้ามาครองพื้นที่เสียเคยตัว และดำรงอยู่อย่างไม่ยอมให้คนอื่น ตัวตนอื่นเข้ามามีบทบาทบ้างเลย เราก็หาวิธีที่จะเข้าไปทำงานกับมัน โดยการสร้างพื้นที่หรืออแวร์ อีโก หรือ ความตื่นรู้ ความรู้เท่าทัน หรือเวทีที่ปล่อยว่าง ที่มีแสงสว่างแห่งความรู้เท่าทันส่องสว่างเข้ามา  
หรือทั้งหมดที่พูดถึงกันอยู่นี้ พื้นที่หรือความว่าง ก็คือศักยภาพ ที่ไร้ขอบเขต หรือว่า มันอาจจะเป็นจิตเดิมแท้ แต่แล้วจิตเดิมแท้คืออะไร หากถามวิจักขณ์ เขาคงบอกว่า เราจะสัมผัสมันได้ด้วยประสบการณ์ตรงเท่านั้น ไม่ใช่จากการอ่านบทความชิ้นนี้แน่ ๆ